เปิดโฉมใหม่ บสย.สู่ยุคดิจิทัล

ข่าวธุรกิจในประเทศ

เปิดโฉมใหม่ บสย.สู่ยุคดิจิทัล “สิทธิกร” ปรับทัพองค์กร-เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี

“สิทธิกร” เปิดบริบทใหม่ “บสย.” ปักหมุดช่วยเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มมากขึ้นปรับองค์กรสู่ภาพลักษณ์ใหม่ที่ทุกคนจะจดจำได้ทั้งการช่วยเหลือค้ำประกันสินเชื่อ และเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยให้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง และส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และการชำระหนี้ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง บสย.ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ เป็นเครื่องมือที่สำคัญเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

เดินหน้าค้ำประกันช่วยเอสเอ็มอี

โดยได้ดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.เอสเอ็มอี สร้างชาติ (PGS 9) และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ระยะที่ 4 ซึ่งล่าสุด ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อในช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ได้อนุมัติวงเงิน 116,289 ล้านบาท แบ่งเป็น บสย.เอสเอ็มอี สร้างชาติ 62,121 ล้านบาท พ.ร.ก.สินเชื้อฟื้นฟู 42,358 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro วงเงิน 4,473 ล้านบาท โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 690 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ 6,648 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ทั้งสิ้น 74,391 ราย และมีวงเงินค้ำประกันสะสม ณ วันที่ 31 ส.ค.65 อยู่ที่ 1,351,648 ล้านบาท มีลูกค้าเอสเอ็มอี 745,406 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบ 11,642,300 คน

“กลุ่มลูกหนี้ของ บสย.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการโควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ขณะที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศคึกคัก ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง กลับมาเปิดกิจการ มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะต่อเนื่องไปถึงภาคเกษตรกรรม หากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มก็จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน และช่วยให้สถานการณ์การชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับตัวดีขึ้นตามด้วย”

ข่าวธุรกิจ-การตลาด

ปรับทัพ บสย.ตอบโจทย์การเงินดิจิทัล

นายสิทธิกรกล่าวต่อว่า นับตั้งแต่มารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไป เมื่อต้นปี 2565 ประมาณ 9 เดือน นอกจากการดำเนินงานช่วยเหลือเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงแหล่งทุนผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินกล้าอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นแล้ว อีกภารกิจสำคัญคือ การปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อลดระดับการพึ่งพาจากภาครัฐ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานขององค์กร

สำหรับยุทธศาสตร์และเป้าหมายในปีนี้ แบ่งเป็น 4 ด้านคือ 1.Credit Accelerator คือ การขยายปริมาณการค้ำประกันสินเชื่อ ให้เข้าถึงกลุ่ม SMEs เป้าหมายตามกลุ่มลูกค้าให้ได้มากขึ้น 2.SMEs Growth Companion คือการพัฒนาองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน 3.Financial Gateway คือพัฒนาการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้บริการสินเชื่อของสถาบันการเงินและขยายผลการค้ำประกัน และ 4.SMEs Data Bank การพัฒนาฐานข้อมูล SMEs ที่มีความครอบคลุมเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์บริการข้อมูลหลักของประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากยุทธศาสตร์การทำงานที่กำหนดไว้แล้ว ภารกิจอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือ การสร้างการจดจำให้กับ บสย. โดยได้จัดทำกลยุทธ์ด้านภาพลักษณ์องค์กรและสร้างภาพลักษณ์องค์กร (Rebranding) ด้วยการเปลี่ยนสัญลักษณ์ให้เด่นชัดขึ้น เป็นเครื่องหมาย “infinity” ที่บ่งบอกถึงความไม่มีที่สิ้นสุด แต่เชื่อมโยงกัน และตัวอักษรภาษาไทย โดยอักษร “ส.” จะมีสีชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนจดจำได้ชัดเจนขึ้น และไม่เรียกชื่อผิด

นับจากนี้ไปจะเห็น บสย.โฉมใหม่ทั้งภาพลักษณ์และการทำงานที่เข้าถึงทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อ กรณีใดช่วยได้จะรีบช่วยเหลือ กรณีใดช่วยไม่ได้จะรีบส่งต่อไปยังหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง สอดรับบริการใหม่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งทุกคนสามารถมาปรึกษา บสย.ได้ เพราะ บสย.คือหมอหนี้ของทุกคน.