อนิจจา! วิชาเศรษฐศาสตร์ จาก “ยอดนิยม” ถึง “เสื่อมนิยม”

เด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์น้อยลง ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนได้ทยอยกันปิดการเรียนการสอน
เศรษฐศาสตร์ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับว่า เด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์น้อยลง ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนได้ทยอยกันปิดการเรียนการสอนหรือยุบคณะเศรษฐศาสตร์กันไปบ้างแล้ว
ผมในฐานะคนที่ร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มากับเขาด้วยคนหนึ่ง รวมทั้งเคยใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นเวลากว่า 30 ปี อ่านข่าวแล้วก็อดใจหายเสียมิได้
นึกไม่ถึงว่าวิชาที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเคยฮิต เคยเป็นที่นิยมพอสมควรของเด็กหนุ่มเด็กสาวที่จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย จะกลายเป็นวิชาตกรุ่นถึงขั้นมีการทยอยยุบคณะในมหาวิทยาลัยบางแห่งในขณะนี้
แต่มาคิดอีกทีก็ทำใจได้ เมื่อนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ไม่มีอะไรยืนยงอย่างถาวร เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เป็นธรรมดาของโลก
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เองก็พูดถึงการถดถอยลง หรือการเสื่อมลงของอรรถประโยชน์ในข้าวของ หรือสินค้าเครื่องใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ ว่าเมื่อความพึงใจในการใช้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะค่อยๆถดถอยลง
วิชาเศรษฐศาสตร์ก็เปรียบเสมือนข้าวของเครื่องใช้ หรือเป็นสรรพสิ่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อถึงวันถึงเวลาก็อาจเข้าสู่ภาวะอรรถประโยชน์ถดถอย เสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมจำนวนคนเรียน จนถึงขั้นปิดคณะได้ดังกล่าว
ถ้าจะว่าไปแล้ว ผมเองก็ไม่รู้จักวิชานี้มาก่อน และตอนที่ผมจบ ม.8 จากโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา เมื่อต้นปี 2503 จะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยปีนั้น ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีคณะนี้สอนอยู่ในประเทศ
เพราะผมก็เหมือนนักเรียนเตรียมอุดมส่วนใหญ่ที่ใฝ่ฝันจะเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ ผมเองก็สอบทั้งเตรียมแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปิดเป็นรุ่น 2 ในปีนั้น กับสอบเข้าวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ซึ่งเป็นฐานของการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียนแพทย์ต่อที่ ศิริราช หรือข้ามถนนอังรีดูนังต์ ไปเรียนแพทย์ต่อที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ
เผอิญว่าผมรู้สึกเฉลียวใจว่า ช่วงปลายๆปีผมยุ่งกิจกรรมมากไป แถมยังไปสมัครเป็นบ๋อยที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี มีรายได้เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ละ 2 วัน บวกค่าทิปเดือนละเป็นพันบาท รวยกว่าข้าราชการชั้นตรีเสียอีก ก็เลยเที่ยวเตร่มากขึ้น ทำให้การเรียนย่อหย่อนลง
วันหนึ่งพวกเรานักเรียนเตรียมอุดมที่ตั้งใจไว้เลยว่าจะเรียนกฎหมายเท่านั้น และต้องกฎหมายที่ธรรมศาสตร์เท่านั้น ชวนกันขึ้นรถเมล์สาย 25 ที่ผ่านหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมไปที่ท่าช้าง และเดินต่อไปท่าพระจันทร์
เพื่อสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เพิ่งจะประกาศปิดตลาดวิชา จากที่ใครๆก็สมัครเรียนได้ในยุคก่อน มาเป็นต้อง “สอบเข้า” หรือ “เอ็นทรานซ์” ในยุคพวกผมจบ ม.8 พอดิบพอดี
ผมซึ่งหวั่นใจว่าจะเข้าเตรียมแพทย์เชียงใหม่ หรือเข้าวิทยาศาสตร์จุฬาฯไม่ได้ เพราะเรียนย่อหย่อนลง ก็ขอตามไปด้วย และขอสอบด้วยคนเพื่อให้มีที่เรียน และก็ตั้งใจจะสอบเข้านิติศาสตร์ตามเพื่อนๆกลุ่มนี้
ที่ไหนได้ ฟ้ากลับลิขิตให้ผมได้เจอเพื่อนรุ่นพี่จากนครสวรรค์ท่านหนึ่ง ที่หน้าประตูธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์โดยบังเอิญ
ท่านถามผมว่ามาทำไม? เมื่อผมตอบว่าจะมาสมัครสอบเข้าธรรมศาสตร์ ตั้งใจจะสอบนิติศาสตร์ตามเพื่อนๆ…ท่านก็บอกว่า เรียน เศรษฐศาสตร์ ดีกว่า สอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์เลย จบแล้วหางานง่าย (ฉิบหาย) แล้วก็ไปนอกง่าย (ฉิบหาย) ทุนเป็นกะตั้กเลยว่ะ
“ยุคนี้เป็นยุคพัฒนาประเทศโว้ย บ้านเรากำลังจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ใครๆก็ต้องการนักเศรษฐศาสตร์”
ผมจึงตัดสินใจสอบเข้าคณะ เศรษฐศาสตร์ ตามคำชวนของเพื่อนรุ่นพี่ และก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีการประกาศผลแพทย์เชียงใหม่กับวิทยาศาสตร์จุฬาฯแล้ว ปรากฏว่าผมไม่ติดทั้งคู่
แต่สอบได้ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ชื่อว่าเป็นเด็กสอบเข้ารุ่นแรก พ.ศ.2503 และหลังจากนั้นก็เรียนบ้างเล่นบ้าง จบได้ใน 4 ปี
ได้งานทำทันทีที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงวันแรกที่เรียนจบ ต่อมาโยกย้ายไปอยู่ที่ สภาพัฒน์ และอีกเพียง 2 ปีก็สอบชิงทุนได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาสมดังที่เพื่อนรุ่นพี่โฆษณาเชิญชวนผมไว้
เพื่อนรุ่นพี่จากนครสวรรค์ท่านนี้ชื่อ สถาพร กวิตานนท์ ครับ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่โด่งดังมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งบีโอไอเป็นต้นมา!
ข่าวเศรษฐศาสตร์ เพิ่มเติม : ธปท.มอนิเตอร์ค่าเงินใกล้ชิด